วัคซีนมะเร็ง

‘ความหวังใหม่’… คุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยมะเร็ง’ ดีขึ้นได้ ด้วยวัคซีนมะเร็ง

เรื่อง: รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ และ อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล

ความยากลำบาก และโอกาสของผู้ป่วยมะเร็งในวันนี้

หากถามว่า โรคใดที่คร่าชีวิตคนไทยไปมากที่สุด? คำตอบในตอนนี้ คือ โรคมะเร็งแบบไม่ต้องสงสัย ด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายใน และภายนอกร่างกายผู้ป่วย เช่น พันธุกรรม หรือวิถีการดำเนินชีวิตผิด ๆ ของคนยุคสมัยใหม่ เป็นการเร่งภาวการณ์ก่อมะเร็งมากขึ้น แน่นอนว่าสถิติการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีเช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น…การรักษาแบบมาตรฐานในปัจจุบัน ยังมีประสิทธิภาพไม่สูงนัก และอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมาได้ จีงมีความจำเป็นที่เราจะต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อรักษาโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนมากที่สุด
ซึ่งการรักษาด้วยแอนติบอดี ที่ไปกำจัดการขัดขวางการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว เพื่อให้กำจัดเซลล์มะเร็งออกไป จะใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยมะเร็งบางรายที่มีภูมิคุ้มกันมะเร็งดีอยู่แล้ว แต่ในรายที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันบางราย จำเป็นที่จะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านมะเร็งส่วนนี้ โดยใช้วัคซีนเข้ามาช่วยนั่นเอง

ภูมิคุ้มกันบำบัด ไม่ใช่แค่แนวคิด แต่ผลลัพธ์นั้นดีจริง

อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผยว่า มนุษย์ทุกคนมีเชื้อมะเร็งอยู่ในร่างกาย เมื่ออยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีปัจจัยเหมาะสม จะกระตุ้นให้เกิดภาวะก่อมะเร็งขึ้นมาได้ ที่สำคัญคือ เชื้อมะเร็งที่ว่า ยังมีลักษณะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลอีกด้วย
หมายความว่าอะไร? หมายความว่า… แม้จะเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในอวัยวะเดียวกัน หน้าตาของเซลล์เหมือนกัน แต่แตกต่างกันในด้านพันธุกรรมของมะเร็ง ทำให้การรักษาแบบเหมารวมไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรอย่างที่เคยเห็นกันมา จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันการรักษาที่เหมาะสมต่อมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การวิจัยพัฒนารักษาโรคมะเร็งในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) มากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธการที่มีประสิทธิภาพสูง และที่สำคัญคือ จะเจาะจงเป้าหมายในเซลล์มะเร็งแต่ละชนิดของผู้ป่วยแต่ละรายได้แบบตรงจุด

รู้ทันหลักการของวัคซีน
‘ภูมิคุ้มกันบำบัด’
ที่ช่วยทลายมะเร็งได้ตรงจุด

ปกติแล้ว วัคซีนที่คนทั่วไปรู้จักในการป้องกันโรคต่าง ๆ จะทำงานด้วยการนำเชื้อโรคมาทำให้อ่อนแรงลง ก่อนฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดอาการของโรค แต่กลับกัน คือ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของมนุษย์ให้จดจำเชื้อโรคเหล่านั้นได้ เมื่อเจอเชื้อโรคหน้าตาเหมือนเดิมในครั้งต่อไป ร่างกายก็จะสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัคซีนมะเร็งจึงมีหลักการการทำงานคล้ายคลึงกัน ซึ่งเป้าหมายของโครงการนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อต้านมะเร็งโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ก็คือ การผลิตวัคซีนที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมะเร็งให้ต่อต้านมะเร็งได้นั่นเอง
โดยมะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ จะสร้างโปรตีนที่มีการกลายพันธุ์ออกมาด้วย โปรตีนเหล่านั้นเอง จะเป็นเป้าหมายของการใช้วัคซีนเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วย ให้ต่อต้านโปรตีนที่มีการกลายพันธุ์นั้น จนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมองเห็นโปรตีนที่มีการกลายพันธุ์เป็นสิ่งแปลกปลอมได้ ทำให้ร่างกายมีความสามารถในการจดจำ และทำลายเซลล์มะเร็งที่มีโปรตีนกลายพันธุ์ได้อย่างตรงจุด โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติในร่างกายด้วย

วิธีใหม่นี้ มีความแตกต่างจากวิธีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อมะเร็งในอดีตที่ยังไม่ได้ผลดีนัก ซึ่งเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย ได้แก่

  1. การใช้ก้อนมะเร็งทั้งหมดนำมาทำเป็นวัคซีน ซึ่งในก้อนมะเร็งจะมีโปรตีนที่เหมือนกับเซลล์ปกติเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี
  2. การใช้โปรตีนกลายพันธุ์ที่พบบ่อยในก้อนมะเร็งแค่บางชนิดนำมาทำเป็นวัคซีน ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควรเนื่องจากก้อนมะเร็งนั้น มีการกลายพันธุ์ที่หลากหลายรูปแบบแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือการใช้วัคซีนที่ประกอบด้วยโปรตีนกลายพันธุ์หลากหลายชนิด ที่พบเฉพาะในก้อนมะเร็งของผู้ป่วยคนนั้น ๆ หรือที่เรียกว่า วัคซีนต่อมะเร็งเฉพาะบุคคลจึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน

‘วัคซีนมะเร็ง’ ความหวังอันยิ่งใหญ่ของผู้ป่วย

ทางฝั่งรศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เสริมประเด็นเรื่องนี้ว่า ถึงแม้จะมีวิธีการรักษามะเร็งอยู่หลากหลายวิธี ทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายแสง แต่วิธีการเหล่านั้น มีข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพของการรักษา ที่จะได้ผลดีในมะเร็งระยะเริ่มต้นเท่านั้น นอกจากนี้ การรักษาดังกล่าวไม่ได้เป็นการรักษาเฉพาะต่อเซลล์มะเร็งในแต่ละบุคคล จึงอาจเกิดผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้น และระยะยาวได้ ดังนั้นการวิจัยเพื่อให้ได้วิธีการรักษาแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาด และก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุดจึงมีความจำเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันกลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็งได้นำเอาเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้เพื่อหา และตรวจสอบยีน รวมถึงโปรตีนทั้งหมดจากเซลล์มะเร็ง จากนั้น จะทำการค้นหาการกลายพันธุ์ที่มีความหลากหลายทั้งหมดในผู้ป่วยแต่ละบุคคล ซึ่งกลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็งเล่าว่า ขณะนี้มีการค้นพบโปรตีนกลายพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายในการสร้างวัคซีนจากกลุ่มตัวอย่างเนื้อเยื่อมะเร็งจากผู้ป่วยทั้งหมด 25 ราย และยังค้นหาต่อเนื่องให้ได้มากที่สุดเพื่อให้สามารถนำมาพัฒนาวัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคลให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพสูง เมื่อนำไปใช้ในการทดลองรักษาผู้ป่วยมะเร็ง จะเพิ่มโอกาสทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย
สุดท้ายนี้ กลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง ยังได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญสาขาเคมีด้านนาโนเทคโนโลยี ภูมิคุ้มกันวิทยา และแพทย์จากทั้งในและต่างประเทศในการศึกษาความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการทำลายเซลล์มะเร็งเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาการรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล (Personalized Cancer Therapy) รวมถึงระบบการนำส่งวัคซีนชนิดต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้น ๆ ของประเทศเกิดขึ้นได้จริง และก้าวไปสู่ปลายทางที่จะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอายุยืนยาวขึ้น เพิ่มโอกาสในการใช้ชีวิต และสร้างสังคมไทยให้ปราศจากโรคภัยต่อไป